Site icon irecognize

หารายได้จากอาชีพเสริมขายข้าวโพดคลุกเนย

หารายได้จากอาชีพเสริมขายข้าวโพดคลุกเนย

เวลาเดินแถวตลาดนัดหรือถนนคนเดินในฤดูหนาวก็จะเห็นผู้คนเดินผ่านไปมา ในมือถือถ้วยข้าวโพดคลุกเนยหอมๆผ่านไปผ่านมาเช่นกัน ข้าวโพดคลุกเนยเหมาะมากสำหรับขายช่วงหน้าหนาว เพราะกลิ่นหอมๆและรสชาติหวานๆของข้าวโพดจะช่วยให้อบอุ่นและมีความสุข จริงๆแล้ว นอกจากหน้าหนาวแล้วข้าวโพดคลุกเนยยังสามารถขายได้ทั่วไป ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การเดินเที่ยวเล่นดูของกลางสายลมหนาวแล้วทานข้าวโพดคลุกเนยไปด้วย นี่ฟินอย่างบอกไม่ถูกเลยล่ะค่ะ และถ้าใครที่กำลังอยากขายข้าวโพดคลุกเนยหน้าโรงเรียนให้เด็กๆ เรามาดูรายละเอียดของอาชีพนี้ พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม ต้นทุน และกำไรกันดีกว่า

อ่านบทความนี้จะรู้ข้อมูลเหล่านี้ได้

ข้อมูลอาชีพเสริม: ขายข้าวโพดคลุกเนย

จำนวนชั่วโมงการทำงาน 1-2 ชั่วโมง / วัน
เงินลงทุนเริ่มต้น 1,000-2,000 บาท
เพศที่เหมาะสม ทุกเพศ ทุกวัย
ทักษะที่จำเป็น ทักษะการขาย , ทักษะด้านการบริการและการโน้มน้าวใจ,ทักษะด้านการทำอาหารและการเลือกวัตถุดิบ
ทำเลขายของ หน้าโรงเรียน ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น,หน้าโรงงาน,หน้าโรงพยาบาล,ตลาดสด,ตลาดนัด,สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน,ตามงานวัดหรืองานกิจกรรมต่างๆที่จัดตอนกลางคืน,ขายหน้าบ้าน

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมในการขายข้าวโพดคลุกเนย

อุปกรณ์ ราคา
หม้อสำหรับต้มข้าวโพด 200-300 บาท
ผ้าขาวบาง 5 บาท
ชาม 5-10 บาท (สามารถใช้ชามที่บ้านแทนได้)
ทัพพี 25-55 บาท
กระปุกพลาสติก ไว้สำหรับใส่เนยและน้ำตาล 10-15 บาท / กระปุก
ที่ขูดมะพร้าว 25 บาท
แก็ส+เตา 1800-2000 บาท (สามารถใช้ของที่บ้านได้)

แหล่งจำหน่ายวัตถุดิบปลีกส่ง

วัตถุดิบ แหล่งจำหน่าย ราคา
ข้าวโพดดิบ ตลาดสด,ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ถ้าข้าวโพดดิบฤดูข้าวโพดราคาจะอยู่ที่ประมาณ กิโลกรัมละ 10 บาท แต่หากเลือกแบบแพคถุงขายตามห้างสรรพสินค้าราคาจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 105 บาท
เนยจืด ตลาดสด,ร้านค้าทั่วไป,ร้านขายของทำเบเกอรี่,ห้างสรรพสินค้าต่างๆ หากใช้เนยแท้ราคาจะอยู่ที่ 74 บาท แต่หากใช้เนยสำหรับทำอาหารขายซึ่งเกรดจะต่ำกว่าเนยแท้หรือใช้พวกมาการีน ราคาจะอยู่ที่ ประมาณ กิโลกรัมละ 90 บาท
นมสด หรือนมข้นจืด ตลาดสด,ร้านขายของชำหรือร้านค้าทั่วไป,ร้านขายของทำเบเกอรี่,ห้างสรรพสินค้าต่างๆ หากใช้นมสดราคาจะอยู่ที่ชวดละ10-20 บาทแล้วแต่ปริมาณ แต่หากใช้นมข้นจืดราคาจะอยู่ที่กระป๋องละ20 บาท เป็นต้น
น้ำตาลทราย ตลาดสด,ร้านขายของชำหรือร้านค้าทั่วไป,ร้านขายของทำเบเกอรี่,ห้างสรรพสินค้าต่างๆ 25 บาท/กิโล
มะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวน้ำหอม ตลาดสดหรือตามสวนมะพร้าว ลูกละ 25-30 บาท
ถ้วยพลาสติกใส 6 ออนซ์ ไม่มีฝาปิด ตลาดสด,ร้านขายของทำเบเกอรี่,ห้างสรรพสินค้าต่างๆ 20 บาท (มีจำนวน 50 ใบ)
ช้อนพลาสติกหรือช้อนไอศกรีม ตลาดสด,ร้านขายของทำเบเกอรี่,ห้างสรรพสินค้าต่างๆ 15 บาท (มีประมาณ 100 คัน)

ข้อดีข้อเสียของการขายข้าวโพดคลุกเนย

ข้าวโพดคลุกเนย เป็นขนมหรือของว่างที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมูเด็กๆและวัยรุ่น ด้วยความหอมหวานที่ชวนน้ำลายสอทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อกินกันบ่อยๆ การขายข้าวโพดคลุกเนยถึงแม้ว่าจะสามารถทำได้ง่าย เริ่มต้นได้ง่าย ลงทุนไม่มาก อุปกรณ์ต่างๆซื้อเพิ่มน้อย ยิ่งใครที่มีของเหล่านี้ที่บ้านอยู่แล้วก็แทบจะไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่มเลย แต่การทำอะไรก็ตาม ย่อมจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียเสมอ เราไปดูกันดีกว่าค่ะ ว่าการขายข้าวโพดคลุกเนยนั้นมีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้างที่คนอยากขายต้องรู้

ข้อดีของการขายข้าวโพดคลุกเนย

  1. ขายง่าย กำไรดี
  2. มีกลิ่นหอมโชยไปไกล สามารถเรียกลูกค้าจากกลิ่นได้
  3. ต้นทุนต่ำ อุปกรณ์ไม่เยอะ
  4. ไมเสียเวลาเตรียมนาน ทำให้ประหยัดเวลา

ข้อเสียของการขายข้าวโพดคลุกเนย

  1. ขายได้บางโอกาส บางเทศกาล เพราะข้าวโพดจะออกแค่บางช่วงเท่านั้น
  2. ไม่เหมาะกับคนที่กำลังลดน้ำหนัก ทำให้ขาดรายได้ตรงส่วนนี้ไป

คำนวณต้นทุน+กำไร ของอาชีพเสริมขายข้าวโพดคลุกเนย

ข้าวโพดคลุกเนย ดูเผินๆแล้วจะมีอุปกรณ์และวัตถุดิบแค่ไม่กี่อย่าง ซึ่งจริงๆแล้วก็จะมีเท่าที่เห็นนั่นแหละค่ะ ที่เหลือจะเป็นกลวิธีในการทำมากกว่า ซึ่งการเตรียมข้าวโพดไว้คลุกเนยขายนั้นก็ทำได้ง่ายและรวดเร็วมากๆ เพราะทำแค่ไม่กี่อย่างก็เสร็จแล้ว ถือเป็นอาชีพที่ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องยุ่งยากเลยล่ะค่ะ และการที่เราเห็นว่ามีอุปกรณ์และวัตถุดิบน้อยขนาดนี้ เราไปคำนวณต้นทุนและกำไรคร่าวๆกันดูดีกว่า ว่าการขายข้าวโพดคลุกเนยนั้นมีต้นทุนและกำไรเท่าไรกันแน่ค่ะ

โดยปกติแล้ว ข้าวโพดคลุกเนย 1 ถ้วย(พลาสติกใสขนาด 6 ออนซ์)จะขายที่ราคาถ้วยละ 15 บาท

วัตถุดิบ ต้นทุน / 1 ถ้วย ราคาขาย / 1ถ้วย กำไร / 1 ถ้วย
ข้าวโพดดิบ 2.50 บาท
เนยจืด 0.85 บาท
นมสด หรือนมข้นจืด 0.50 บาท
น้ำตาลทราย 0.25 บาท
มะพร้าวอ่อนขูดฝอย 3.50 บาท
แก็ส 0.25 บาท
ถ้วยพลาสติกใส 6 ออนซ์ 0.25 บาท
ช้อนพลาสติก 0.25 บาท
รวมต้นทุนข้าวโพดคลุกเนย 1 ถ้วย 8.35 บาท 15 บาท 6.65 บาท

** ราคาต้นทุนยังไม่รวมค่าที่,ค่าแรง
*** หากในหนึ่งวันสามารถขายข้าวโพดคลุกเนยได้ 100 ถ้วย ก็จะมีกำไรทั้งหมด 665 บาทเลยทีเดียว (ข้าวโพดตามตลาดสดหากออกใหม่ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาทเมื่อเลาะเมล็ดออกมาแล้วจะเหลือประมาณ 7 ชีด ปกติ ข้าวโพดคลุกเนย 1 ถ้วย(15 บาท )จะใส่ข้าวโพดนึ่งประมาณ 150 กรัม จะได้ 4 ถ้วยกว่าๆ)

ช่วงเวลาทำเงินอาชีพขายข้าวโพดคลุกเนย

  1. ฤดูหนาวช่วงเย็นหลังเลิกเรียน
  2. ช่วงเย็นหลังเลิกงาน
  3. ช่วงเย็นๆตามถนนคนเดินหรือตลาดนัดกลางคืน
  4. ช่วงกลางคืนตามงานเทศกาลหรืองานฤดูหนาวประจำปี

กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

  1. เด็กเล็กหรือเด็กโต
  2. วัยรุ่น
  3. บุคคลทั่วไปที่ชฃิบของหวานหรือของทานเล่น

การเพิ่มจุดเด่นและความหลากหลายของสินค้า

  1. เพิ่มจำนวนท้อปปิ้งที่ใส่ เช่นเยลลี่ นมข้นหวาน วุ้นมะพร้าว ช็อกโกแลต แล้วอัพราคาขายได้
  2. นึ่งข้าวโพดให้สุกพอดีจะได้เป็นเม็ดอวบสวย

เทคนิคการเพิ่มยอดขายและเพิ่มกำไร

  1. ใช้มาการีนแทนเนยสดจะช่วยเซฟต้นทุนและเพิ่มกำไรได้
  2. ใช้ถ้วยขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มท้อปปิ้งให้เยอะขึ้น แล้วเพิ่มราคาขาย
  3. อาจมีการเพิ่มผงชีสหรือเพิ่มผงนม ผงโกโก้ ฯลฯ เข้ามาด้วย จะช่วยสร้างจุดเด่นและความแตกต่างของสินค้า

เทคนิคที่ทำให้ชนะคู่แข่ง

  1. ใช้วัตถุดิบสดใหม่ หากขายไม่หมดไม่แนะนำให้เก็บ โดยเฉพาะของที่เก็บยากเช่น มะพร้าว ข้าวโพด เป็นต้น
  2. ทำแบบสดใหม่ เมื่อลูกค้าสั่งค่อยทำ จะดีกว่าทำใส่กระปุกแล้ววางขาย เพราะเมล็ดข้าวโพดจะลีบๆเย็นและไม่หอมอร่อยเท่าที่ควร
  3. ข้าวโพดควรร้อนอยู่ตลอดเวลาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขาย
  4. รักษาความสะอาดของวัสดุ วัตถุดิบและอุปกรณ์ รวมไปถึงความสะอาดของคนขายด้วย

อุปสรรคของการทำอาชีพขายข้าวโพดคลุกเนย

  1. ลูกค้าอาจจะมาไม่เป็นเวลาทำให้ต้องจุดเตาอุ่นข้าวโพดอยู่บ่อยๆ ซึ่งอาจทำให้สิ้นเปลืองแก็สได้
  2. คู่แข่งเยอะ เพราะทำง่าย อร่อยและขายดี ใครๆก็อยากขาย
  3. ข้าวโพดถ้าอยู่ในฤดูจะราคาถูก สด หวานอร่อย แต่นอกฤดูจะค่อนข้างราคาแพง ไม่ค่อยหวานเหมือนเก็บสดๆ แถมบางฤดูก็จะแพงมาก

อาชีพขายข้าวโพดคลุกเนยลงทุนน้อยแต่กำไรงาม

การทำอาชีพขายข้าวโพดคลุกเนยถึงแม้ว่าจะเป็นอาชีพที่ทำง่าย เริ่มต้นก็ง่าย แต่นั่นก็ทำให้มีคนขายกันเยอะแยะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายไม่ได้ เพราะหากเรามีจุดเด่นที่ดีกว่าคู่แข่งเชื่อว่าสักวันหนึ่งลูกค้าก็จะต้องเยอะขึ้นอย่างแน่นอน ในช่วงแรกๆ แนะนำทำขายแต่น้อยๆก่อน ถ้าหมดค่อยทำเพิ่มได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของวัตถุดิบที่อาจขายไม่หมด เพราะนั่นก็คือต้นทุนของเรานั่นเอง